how-to-mask

HOW TO ลดปัญหาสิวขึ้นเยอะคันมีผื่นแดงที่หน้าเพราะMask

หน้ากากอนามัย ไอเทมที่ต้องมีติดตัวในช่วง COVID-19 (โควิด 19) หรือ โคโรนาไวรัส ระบาด แต่ปัญหาผิวที่ตามมาคือ ใส่หน้ากากอนามัยแล้วสิวขึ้น ระคายเคือง เป็นผื่น เป็นเพราะอะไรและควรทำอย่างไรดี
จากการระบาดของ COVID-19 (โควิด 19) หรือ โคโรนาไวรัส ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้ในเร็ววันนี้ ทำให้ชีวิตประจำวันของสาว ๆ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยกันเกือบตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ แต่การสวมหน้ากากอนามัยทุกวันเป็นประจำนี่เอง ใบหน้าของเราจึงต้องสัมผัสกับหน้ากากอยู่บ่อย ๆ ทำให้หลายคนมีปัญหาผิว สิวเยอะขึ้น ระคายเคือง คัน และมีผื่นแดงตามมา เป็นเพราะสาเหตุอะไรและจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

1. สิวที่เกิดจากการใส่หน้ากากอนามัย

ขณะที่เราสวมใส่หน้ากากอนามัย จะเกิดการเสียดสีระหว่างหน้ากากกับผิวหน้า ทำให้ผิวระคายเคือง เกิดเป็นสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ รวมถึงตุ่มหนองขนาดเล็ก ๆ ขึ้นมาได้ และการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ๆ ยังทำให้ผิวภายใต้หน้ากากอบไปด้วยความร้อน เหงื่อ และละอองน้ำ ก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค แบคทีเรีย และผิวอุดตันได้ง่าย ซึ่งเป็นอีกต้นเหตุหนึ่งของการเกิดสิว

2. อาการคันและผื่นแดงจากการใส่หน้ากากอนามัย

อาการคัน และเป็นผื่น อาจจะเกิดขึ้นบริเวณขอบหน้ากาก แก้ม ปาก คางและจมูกก็ได้ ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเคือง เช่น การกดทับ การขยับไป-มา มากกว่าเกิดจากการแพ้สัมผัสจากส่วนประกอบของหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ จากข้อมูลงานวิจัยในช่วงนี้มีการระบาดของโรค SARS ระหว่างปี ค.ศ. 2002-2004 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ 35.5% มีปัญหาผิวจากการใช้หน้ากากชนิด N95 อย่างต่อเนื่อง โดย 59.6% เป็นสิว, 51.4% มีอาการคันหน้า และ 35.8% มีผื่นที่ใบหน้า (ใน 1 คนอาจมีหลายอาการได้) ซึ่งในจำนวนนี้ พบคนที่ใส่ N95 ส่วนหนึ่งแพ้สารฟอร์มาลดีไฮด์ที่อยู่ใน N95 นั่นเอง แต่คนที่ใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดายังไม่พบว่ามีการแพ้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากรายงานกรณีแพทย์ที่มีผื่นแพ้สัมผัสจากหน้ากากอนามัย โดยมีอาการผื่นคันที่หน้าผาก เปลือกตา และแก้ม ซึ่งเป็นหลังจากช่วงที่เข้าห้องผ่าตัด และอาการผื่นดีขึ้นในช่วงวันหยุดที่ไม่ได้ผ่าตัด เคสนี้ได้ทดสอบการแพ้ พบว่าแพ้สารไทยูแรม (Thiauram) ซึ่งพบว่าอยู่ในส่วนที่เป็นสายคล้องหูของหน้ากากนั่นเอง

ดังนั้น หากเกิดอาการคัน เป็นผื่น จากการใส่หน้ากากอนามัย อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าแพ้หน้ากากอนามัย เพราะเคสผื่นแพ้สัมผัสแบบนี้เจอได้น้อยมาก ส่วนเรื่องการทดสอบการแพ้ (Patch test) ก็สามารถทำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกคน

วิธีใส่หน้ากากอนามัยแบบง่าย ๆ ที่จะช่วยลดปัญหาผิว ทั้งสิว ผื่นคัน และอาการแพ้ สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้

1. ล้างหน้าให้สะอาด เพื่อลดโอกาสเสื่ยงจากการเกิดสิว จึงควรล้างหน้าให้สะอาดมากขึ้น ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่เหมาะกับผิว รีเช็กการทำความสะอาดขั้นตอนสุดท้ายโดยใช้โทนเนอร์เช็ดที่ผิว จนกว่าจะไม่มีคราบบนสำลี และควรล้างหน้าเมื่อมีเหงื่อออกมาก โดยไม่ต้องขัดหรือสครับผิวหน้า

2. งดแต่งหน้า ถ้าจำเป็นต้องแต่งจริง ๆ ให้เว้นใบหน้าครึ่งล่างไว้ แต่งเฉพาะครึ่งบนได้

3. เลือกใช้สกินแคร์ที่ไม่ทำให้อุดตันหรือเป็นสิว วิธีง่าย ๆ คือให้สังเกตตรงฉลากจะมีคำว่า Oil-free, Non-comedogenic, Non-acnegenic, Won’t clog pore เป็นต้น

4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อน ที่มีผู้คนแออัด

5. ถอดหน้ากากอนามัยออกบ้าง เวลาที่อยู่คนเดียว หรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก และผู้คนไม่พลุกพล่าน

6. หาทิชชูสะอาดบาง ๆ คั่น ระหว่างหน้ากากอนามัยกับใบหน้า

7. เปลี่ยนหน้ากากอนามัยอย่างน้อยวันละครั้ง ไม่ควรใช้ซ้ำ

8. กินยาแก้แพ้ แก้คัน ช่วยลดอาการคันได้ ถ้าไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

9. ถ้าเป็นสิว ทายาแต้มสิวได้ ถ้าเป็นเยอะหรือไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เช่นกัน

10. ระวังไม่ให้เส้นผมเข้าไปในหน้ากากอนามัย เพราะความมันจากเส้นผมก็เป็นสาเหตุของสิวได้

11. ไม่ควรลองใช้สกินแคร์หรือเครื่องสำอางใหม่ ๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้ของใหม่

12. ทำความสะอาดพัฟหรือแปรงแต่งหน้า สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

13. เปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ควรซักและเปลี่ยนปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน เป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถ้าจะให้ดี เปลี่ยนสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็ได้

14. ลดสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เป็นสิว เช่น ไม่จับหน้าบ่อย ๆ ไม่นอนดึก ไม่กินของหวาน ๆ

รู้แบบนี้แล้ว สาวๆ ก็ลองนำไปปรับเปลี่ยนวิธีการใส่หน้ากากอนามัยของตัวเองกันดู และอย่าลืมให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดและบำรุงผิวหน้าหลังถอดหน้ากากอนามัยกันด้วยนะคะ คราวนี้การใส่หน้ากากก็จะไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้หน้าพังอีกแล้ว ถึงไวรัสจะมา แต่หน้าเราต้องรอด
ดูผลงานของเราคลิกที่นี่

-รับผลิตเครื่องสำอาง   -รับผลิตครีมครบวงจร  -บริษัทรับผลิตครีม  -สร้างแบรนด์ครีม  -รับผลิตครีมซอง  -รับผลิตครีมกันแดด

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา : เฟซบุ๊ก Dr. Yui คุยทุกเรื่องผิว
บทความอ้างอิง
1. Foo CCI, Goon ATJ, Leow Y, Goh C. Adverse skin reactions to
personal protective equipment against severe acute respiratory
syndrome–a descriptive study in Singapore. Contact Dermatitis
2006;55(5):291–294.
2. Kosann MK, Brancaccio R, Cohen D. Occupational allergic contact
dermatitis in an obstetrics and gynecology resident. Dermatitis
2003;14(4):217–218.
3. Faisal M Al Badri. Surgical mask contact dermatitis and epidemiology of contact dermatitis in
healthcare workers. Current Allergy and Clinical Immunology. 30(3):183-188.

Facebook Comments